ความเชื่อเกี่ยวกับปลาตะเพียร


ตามความเชื่อแต่โบราณเกี่ยวกับเครื่องรางที่บูชาแล้วให้ผลเรื่องการค้าขาย โชคลาภ เงินทอง นั้นมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด อาทิ ไซดักทรัพย์ กุมารทอง นางกวัก ซึ่งปลาตะเพียนนั้นก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน


 แต่การกำเนิดของปลาตะเพียนว่าเกิดขึ้นเมื่อใดยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ แต่เชื่อกันว่ามีมาแล้วหลายร้อยปีแล้วเพราะมีการค้นพบปลาตะเพียนโบราณที่ทำด้วยวัสดุหลากหลายชนิด อาทิ ผ้า ไม้มงคล ไม้จักสาน โลหะ และหลากหลายขนาดขึ้นอยู่กับครูบาอาจารย์แต่ละท่านที่จะจัดสร้างขึ้นในวาระนั้น ๆ ส่วนในเรื่องความนิยมเครื่องรางที่เป็นปลาตะเพียนนั้นจะไม่หวือหวาเหมือนเครื่องรางประเภทอื่น ๆ 

      เนื่องจากเป็นเครื่องรางที่ดูผิวเผินแล้วเหมือนกับไม่มีอะไร ไม่มีฤทธิ์หวือวา แต่ในความเป็นจริงปลาตะเพียนจะมีฤทธิ์มีเดชแบบค่อยเป็นค่อยไปดังภาษิตที่ว่า “น้ำซึมบ่อทราย” แล้วยังให้พุทธคุณในเรื่องความร่มเย็นเป็นสุข ช่วยพยุงและเสริมฐานะค่อยเป็นค่อยไปแก่ผู้บูชาด้วย ซึ่งหาได้ยากในหมู่เครื่องรางด้วยกัน 

      แต่หากจะสืบเสาะเลาะลึกลงในความเชื่อเรื่องการกำเนิดของปลาตะเพียนนั้นก็จะมีความเชื่อที่แตกต่างกัน บ้างก็ว่าน่าจะสืบเนื่องมาการเสวยพระชาติเป็นปลาตะเพียนเพื่อการสั่งสมบุญบารมีของพระโพธิสัตว์พระองค์หนึ่ง 

      บ้างก็ว่าเนื่องด้วยปลาตะเพียนเป็นสัตว์น้ำที่หากินคล่องแคล่ว กินอาหารง่าย ปราดเปรียวกว่าปลาประเภทอื่น บ้างก็ว่าชื่อของปลาตะเพียนนั้น คำว่า “เพียน” ซึ่งเป็นคำท้ายนั้นออกเสียงคล้ายกับคำว่า “เพียร” ซึ่งหมายถึงความขยันหมั่นเพียร ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และรวมไปถึงการขยันทำมาหากินอีกด้วย แต่ไม่ว่าปลาตะเพียนจะมีกำเนิดมาจากความเชื่อใดก็ตาม ครูบาอาจารย์แต่โบราณท่านได้บรรจงสร้างสรรค์ปลาตะเพียนขึ้นมาเป็นเครื่องรางที่เราได้รู้จักกันทุกวันนี้ โดยใช้วัสดุประเภทต่าง ๆ ที่หาได้สะดวกในช่วงเวลานั้น 

      แต่จะต้องถูกต้องตามตำราบังคับและเมื่อพิจารณาตัวปลาตะเพียนจะต้องมีลักษณะสมส่วนและดูมีชีวิตจริง ๆ รวมไปถึงจะต้องมีการอาการพลิ้วไหวเหมือนกำลังแหวกว่ายอยู่ในแม่น้ำ ส่วนที่ขาดไม่ได้คือจะต้องมีการสร้างเป็นคู่เสมอ ดังที่โบราณเรียกว่า “ปลาตะเพียนเงิน ปลาตะเพียนทอง” ซึ่งมีความหมายแฝงถึงความเจริญก้าวหน้าเหมือนปลาที่สืบสายพันธุ์ต่อไปไม่มีวันหมด และยังหมายรวมไปถึงการครองชีวิตร่วมกันอย่างผาสุก (สำหรับคู่แต่งงาน) แต่ก็ยังมีอีกหลายท่านก็ยังมีความเข้าใจผิดว่าตัวหนึ่งเป็นตัวผู้ อีกตัวหนึ่งเป็นตัวเมียจนถึงปัจจุบัน